นิโคตินในบุหรี่ สารที่เสพติดรุนแรงมากที่สุด

อันตรายจากบุหรี่ 15 ธ.ค. 66 | เข้าชม: 1,052

การได้รับนิโคตินในบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า ยาสูบชนิดอื่น ๆ ทำให้เกิดการหลั่งสารที่ทำให้รู้สึกสบาย คลายเครียดในระยะสั้น (ซึ่งสารนี้มีการหลั่งจากสมองตามปกติ เวลาออกกำลังกาย เวลาที่มีความสุข สนุกสนาน การทำโยคะ นั่งสมาธิ การทำงานสำเร็จ ฯลฯ)

 

คนที่สูบบุหรี่เมื่อไม่ได้สูบสักพักหนึ่ง ระดับสารเคมีที่ทำให้รู้สึกสบายจะลดลงจนต่ำกว่าปกติ ทำให้รู้สึกไม่สบาย หงุดหงิด ขาดสมาธิ ฉุนเฉียวง่าย กระวนกระวายและรู้สึกหดหู่ ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อได้สูบบุหรี่ (จากการได้รับนิโคติน ไปกระตุ้นให้สมองหลั่งสารที่ทำให้รู้สึกสบายกลับเพิ่มขึ้นมาใหม่)

ในคนที่สูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้าจนติดแล้ว ความรู้สึกไม่สบายเมื่อไม่ได้สูบ (ไม่ได้รับนิโคติน) ทำให้เขาต้องรีบหาบุหรี่มาสูบ เพื่อขจัดอาการไม่สบายที่เกิดจากการขาดนิโคติน วงจรนี้เป็นสาเหตุที่คนสูบบุหรี่ส่วนใหญ่เลิกสูบไม่ได้ เสพติดไปจนตลอดชีวิต
 
การเสพติดนิโคติน ในทางการแพทย์จัดเป็นโรคโรคหนึ่ง ที่เรียกว่า โรค Nicotine dependence หรือโรคพึ่งพานิโคติน เพราะนิโคตินและสารเคมีอื่นๆในยาสูบ ค่อยๆทำอันตรายอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทีละน้อย อย่างเช่นเส้นเลือดหัวใจตีบไป 40 - 50% แต่ยังไม่แสดงอาการของโรคหัวใจ
 
ระยะเวลาที่เริ่มติดบุหรี่ไปจนถึงมีอาการแสดงของโรคต่าง ๆ จึงเป็น “ระยะฟักตัว” ของโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า
.
การเสพติดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า การใช้ยาสูบชนิดอื่น ๆ เป็นเดือนเป็นปี ทำให้ร่างกายได้รับอันตรายจากนิโคติน สารเคมีพิษชนิดต่าง ๆ โลหะหนัก และสารก่อมะเร็ง จนเกิดโรคกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
.
ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ
วันที่ 10 ธันวาคม 2566
.
.