Gen Z 4 ภาค ประกาศ “ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า”

ข่าว/กิจกรรม 28 พ.ค. 67 | เข้าชม: 687

วันนี้ ( 27 พฤษภาคม  2567)  มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เปิดโอกาสและเปิดพื้นที่จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานชมรม Gen Z GenStrong  4 ภาค  “ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า”  โดยมี ตัวแทนแกนนำเยาวชนชมรม Gen Z และครูที่ปรึกษาจากโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จาก 14 จังหวัด เข้าร่วมรวม  120 คน ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานในการเปิดงานกล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนเข้าไปในโรงเรียนจนถึงนักเรียนชั้นประถมศึกษา  ปัจจุบันท่านนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องการระบาดและการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า  ซึ่งเป็นสาเหตุของการเข้าถึงในเด็กและเยาวชนได้ง่าย  โดยได้สั่งการและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือ  เพื่อกวาดล้างและปราบปรามอย่างจริงจัง   โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีการลักลอบจำหน่ายในกลุ่มเด็กและเยาวชน  รวมถึงมีนโยบายให้ กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ให้สื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับหน่วยงานในสังกัด  เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้รู้ถึงพิษภัยของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวเพิ่มเติมว่า  งานเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงาน Gen Z 4 ภาค  “ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า”  นอกจากจะเป็นเวทีที่เยาวชน  ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนและนำเสนอผลงานของการทำงานของชมรม Gen Z ในโรงเรียน  ยังเป็นโอกาสดีที่แกนนำเด็กและเยาวชน  รวมถึงครูที่ปรึกษา จะได้ช่วยกันสื่อสารไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  โดยฉพาะ ครู ผู้ปกครอง ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล และให้ความใส่ใจบุตรหลาน หากพบเห็นสิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นบุหรี่ไฟฟ้า ขอให้ช่วยกันตักเตือน เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย  และจะทำลายพัฒนาการทางสมอง   ฝากถึงน้อง ๆ Gen Z คุณครู และผู้ปกครองทุกท่านว่า เราต้องปกป้องเยาวชนปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ตามนโยบายเรียนดี มีความสุข ทำดี ทำได้ ทำทันที

นอกจากนี้  ภัยของบุหรี่ไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง  ซึ่งกลุ่มผู้เสพหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุเพียง 13 ปี และยังสืบทราบว่ามีการนำไปขายในโรงเรียน สถานศึกษา โดยเด็กและเยาวชนเป็นคนรับไปจำหน่ายเอง จึงขอความร่วมมือทั้งผู้ปกครองและสถานศึกษา หากพบเห็นการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ขอความร่วมมือให้แจ้งหน่วยงานรัฐ ทั้งทาง สายด่วน สคบ. 1166   และสายด่วนของภาครัฐทุกช่องทาง   ในขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า 

 

ด้าน นางสาวชวาลา  ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และผู้จัดการโครงการป้องกันเยาวชนจากการสูบบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า (Gen Z Gen Strong เลือกไม่สูบ)  กล่าวว่า จากผลการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี จำนวน 6,700 คน พื้นที่โรงเรียนทั่วประเทศ พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปี พ.ศ.2558 พบเยาวชนสูบบุหรี่ร้อยละ 3.3 แต่ปี พ.ศ.2565 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่สูงถึงร้อยละ 17.6 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 5.3 เท่า และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

จากสถานการณ์ข้างต้น และท่านนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องนี้ ดังนั้น  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคีเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบ  ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึง คุณครูและผู้ปกครอง จะต้องรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้ามูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  ในฐานะองค์กรเอกชนที่สนับสนุนการรณรงค์ป้องกันเด็กและเยาวชน จากพิษภัยของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ร่วมกับ  เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่  จึงได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงาน Gen Z 4 ภาค  “ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ” โดยมี ครู และเยาวชนระดับมัธยมศึกษาจาก 14 จังหวัด เข้าร่วมรวม 120 คน ประกอบด้วย  ภาคเหนือ 8 โรงเรียน จาก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน  เชียงใหม่  เพชรบูรณ์  และ จังหวัดพิษณุโลก   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 โรงเรียน จาก 4 จังหวัด ได้แก่  จังหวัดขอนแก่น  นครราชสีมา  อุบลราชธานี  และจังหวัดอำนาจเจริญ   ภาคกลาง 6 โรงเรียน จาก 2 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร  และจังหวัดกาญจนบุรีภาคใต้ 8 โรงเรียน จาก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่  ยะลา  ปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส

นางสาวชวาลา  กล่าวเพิ่มเติมว่า  โครงการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ Gen Z Gen Strong :  เลือกไม่สูบ เริ่มขับเคลื่อนงานตั้งแต่ ปี พ.ศ.2560 เป็นต้นมา จากการดำเนินงานส่งผลให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงโทษ และพิษภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น  และยังมีการขับเคลื่อนงานในภูมิภาคต่าง ๆ  ทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ ครอบคลุม  28  จังหวัด  235  ชมรม มีสมาชิกกว่า 6,776 คน   โดยในส่วนของเยาวชนแกนนำ Gen Z ได้รับการพัฒนาสมรรถนะให้มีบทบาทในการรณรงค์สามารถขับเคลื่อนการดำเนินโครงการในมิติต่าง ๆ  ทั้งการรณรงค์สื่อสาร และผลักดันนโยบายสำคัญระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ