วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2566) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดเวทีสรุปบทเรียน “นักขับเคลื่อนนโยบายท้องถิ่นเพื่อสังคมปลอดบุหรี่” เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 38 ของการรณรงค์ควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยน สรุปผล และถอดบทเรียน รวมทั้ง ร่วมกันกำหนดทิศทางงานควบคุมการบริโภคยาสูบในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและต่อยอดการดำเนินงานในอนาคต
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า ตลอดการทำงาน 37 ปี ของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เกิดการขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบในหลายมิติ จนเมื่อปี 2558 ด้วยความเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนคือการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบและเชิงนโยบาย จึงเกิดเป็นหลักสูตร “นักขับเคลื่อนนโยบายท้องถิ่นเพื่อสังคมปลอดบุหรี่” โดย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ (SEATCA) และศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. ได้พัฒนาและ จัดอบรมหลักสูตรดังกล่าวขึ้น ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับภาคีเครือข่ายที่ทำงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ อย่างเข้มแข็ง ให้มาเรียนรู้และสร้างทักษะในการขับเคลื่อนนโยบายในท้องถิ่นของตนเอง และเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่าย ที่ดำเนินงานด้านการควบคุมยาสูบ อาทิ เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เครือข่ายสื่อมวลชนส่วนภูมิภาค เครือข่ายสาธารณสุข เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ ฯลฯ ได้รับการพัฒนาศักยภาพ โดยเติมองค์ความรู้ และ กลยุทธ์ในการรณรงค์ ผ่านกระบวนการ 9 คำถาม หรือ 9 Questions for Policy Advocacy โดยจากปี 2558-2566 มีการจัดอบรมหลักสูตรผู้นำนักขับเคลื่อนนโยบายฯ จำนวน 14 ครั้ง มีผู้ผ่านการอบรม จำนวน 323 คน และเกิดโครงการผลักดันนโยบายควบคุมยาสูบในพื้นที่จำนวน 112 โครงการ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมย์ที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่ต้องการให้เกิดความเข้มแข็งของเครือข่ายที่ทำงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในจังหวัด อันเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการที่จะลดจำนวนคนสูบบุหรี่ในแต่ละจังหวัด
ศ.นพ.ประกิต กล่าวเพิ่มเติมว่า 37 ปีที่ผ่านมา เกิดการผลักดันให้เกิดกฎหมาย นโยบาย และกลไกที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมยาสูบเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่เข้มข้น และสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจแบบ “กัดไม่ปล่อย” จนกลายเป็นกรณีตัวอย่างที่ถูกกล่าวขวัญถึงเสมอ ในฐานะต้นแบบที่ดีของการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทย รวมทั้งกลายเป็นผู้นำ เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นผู้เสริมพลังให้แก่ภาคีเครือข่ายในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งด้านการพัฒนากฎหมาย กลไก และจัดตั้งองค์กรสร้างเสริมสุขภาพจากภาษีสุรายาสูบ อย่างเช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เพื่อเสริมความเข้มแข็งงานควบคุมยาสูบร่วมกันทั้งภูมิภาค ซึ่งจะย้อนกลับมาทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งเองไปพร้อมกันด้วย
ศ.นพ.ประกิต กล่าวทิ้งท้ายว่า การขับเคลื่อนงานที่ผ่านมาส่งผลให้อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ลดลง จาก 32% เมื่อปี 2534 เหลือเพียง 17.4% ในปี 2564 ซึ่งถ้าคำนวณตัวเลขจากประชากรที่เพิ่มขึ้น เราสามารถลดจำนวนคนสูบบุหรี่ไปได้ กว่า 8,000,000 คน หากไม่มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยจะสูงกว่านี้แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ท้าทายนั่นคือการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมไปถึงการแทรกแซงนโยบายสาธารณของอุตสาหกรรมยาสูบ ขัดขวางการผลักดันนโยบายด้านต่าง ๆ
ดังนั้น เพื่อปกป้องและเสริมพลังให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันกลยุทธ์ และพิษภัยบุหรี่ อันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า การทำงานผ่านพื้นที่ปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบ โดยเน้นหนักที่บ้าน สถานศึกษา รวมทั้ง ให้คุณครู ผู้ปกครอง เข้าร่วมทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งต่อไปยังภาครัฐ ให้มีนโยบายควบคุมยาสูบ ที่เข้มแข็ง ต่อเนื่อง และยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ เวทีสรุปบทเรียน “นักขับเคลื่อนนโยบายท้องถิ่นเพื่อสังคมปลอดบุหรี่” เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 38 ของการควบคุมการบริโภคยาสูบไทย มีผู้ร่วมงานกว่า 170 คน จาก หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย ผู้แทนจาก องค์การอนามัยโลก, กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่, เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่, ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ, สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย, เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่, เครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น, เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่, เครือข่ายโรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปลอดบุหรี่ และผู้แทนเครือข่าย Gen Z Gen Strong เลือกไม่สูบ ซึ่งจัดขึ้นที่ ห้องเจ้าพระยา ชั้น 3 โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ 02-278-1828