เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566 หัวข้อการบรรยาย : ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะแนวใหม่ วันที่ 8 กรกฎาคม 2566
โลกที่ผันผวนสลับซับซ้อน คลุมเครือ เปราะบาง ความแออัด โลกร้อน ความขาดแคลน ภาวะเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี Generation Gap ที่เปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตเปลี่ยนไปสู่ความเป็นเมือง ปัญหาสาธารณสุขทั้งโรคอุบัติใหม่ โรคไม่ติดต่อเรื้อ รังและปัญหาสุขภาพจิต กำลังกลายเป็นความแออัดและภาระงานในโรงพยาบาล
สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพ ทำให้เกิดทั้งโอกาส ความท้าทาย และ ภัยคุกคามต่อระบบสุขภาพ รวมทั้งทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้น เนื่องจากระบบสุขภาพที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณของประชาชน ในการเข้าถึงบริการที่ไม่เท่าเทียมถ้วนหน้า กลายเป็นความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
เพราะการเข้าถึงบริการที่ไม่เท่าเทียม ส่งผลให้คนจำนวนหนึ่งค่อนข้างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในพื้นที่ทุรกันดาร มีฐานะลำบาก ที่มีระยะทางเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ ไม่อาจเข้ารับการรักษาหรือดูแลสุขภาพที่เหมาะสมได้ หากเกิดการเจ็บป่วยขึ้นจะต้องใช้เวลานานในการเดินทางไปรักษา หรือบางรายที่เจ็บป่วยหนัก ๆ รอการรักษาที่ล่าช้าไม่ไหว อาจทำให้เสียชีวิตระหว่างทางได้
นี่คือ บางปัญหาที่พบเห็นได้บ่อยในระบบสุขภาพชุมชน หากได้รับการพัฒนาและร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็จะสามารถผลักดันระบบสุขภาพให้เท่าเทียมและทั่วถึง
จึงเป็นที่มาของการนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะแนวใหม่ ที่สอดรับกับแนวทางการสร้างระบบสุขภาพชุมชน เท่าเทียม ถ้วนหน้า ในยุคถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโรงพยาบาลระดับตำบล ให้มีการดูแลและบริการที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับนโยบายสาธารณสุขระดับชาติ
เห็นได้จากวันที่ 8 ก.ค. 2566 ในงาน เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566 วาระ : พลังชุมชนท้องถิ่น ตอบโจทย์ประเทศ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
โดยมี นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ดร.ภูนท สลัดทุกข์ เลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย เข้าร่วมบรรยาย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และชี้นำการสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืนด้วยศักยภาพของชุมชน สู่การบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพในสังคมไทย
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน เปิดการบรรยายในหัวข้อ “ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะแนวใหม่” ว่า…สสส.ได้ปรับวิธีการทำงานแนวใหม่ โดยใช้การมองภาพงานแบบองค์รวม ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกมากขึ้น เพื่อให้เกิดการขยายทรัพยากรในการทำงาน บูรณาการสร้างเสริมสุขภาวะในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการส่งต่อกลไกทำงานร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายในการสร้างเสริมสุขภาพ สู่สุขภาวะที่ดี ทั้งด้านวิถีชีวิตและพฤติกรรม ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม และกายภาพอีกด้วย
ด้านนพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สธ. กล่าวว่า… “มิติใหม่ของการถ่ายโอน รพ.สต. ไปที่ อบจ. ให้อยู่ในความดูแลของท้องถิ่น โดยการมี Community care บริการที่ใกล้บ้าน เข้าถึงง่าย เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน พัฒนาศักยภาพของตนเองให้ดีขึ้น โดยใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง กระจายไปยังครอบครัว และชุมชน
“ระบบสุขภาพที่ครอบคลุม สามารถสร้างความเท่าเทียมการรักษาพยาบาลในชุมชน ยกระดับการดูแลรักษาด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการเข้าถึงการรักษา เมื่อมีการถ่ายโอนจะต้องมีการแบ่งหน้าที่ถึงบทบาทองค์กรท้องถิ่น การมีส่วนร่วมทำงานพัฒนาแผนสุขภาพอย่างเป็นระบบ จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาวะชุมชนอย่างสูงสุด” นพ.โกเมนทร์ เน้นย้ำ
ในขณะที่นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า… “การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินภารกิจด้านสาธารณสุขของ อปท. พัฒนาสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี รวมถึงการจัดการบริการสาธารณสุขระดับท้องถิ่น รพ.สต. ให้เป็นสถานพยาบาลในระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นด่านหน้าของบริการสุขภาพในชุมชนท้องถิ่น
“เช่นเดียวกับ อปท. ที่เป็นด่านหน้าของระบบสาธารณะที่ให้บริการประชาชนในพื้นที่ การถ่ายโอน รพ.สต. จึงเป็นสิ่งที่องค์การต่าง ๆ ทั้งด้านสุขภาพ สาธารณสุข อปท. จะต้องร่วมมือ สานพลัง ให้เกิดหน่วยสุขภาพที่มีประสิทธิภาพในท้องถิ่น ผลักดันให้เกิดนโยบายขับเคลื่อนงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ บูรณาการส่วนต่าง ๆ นำไปสู่นโยบายภาครัฐที่ยั่งยืน” นายศิริพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย
การถ่ายโอน รพ.สต ไป อบจ. ที่ได้เริ่มดำเนินงานไปแล้ว ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นข้อดีที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนหลายประการ ดังนี้
- การดูแลและบริหารจัดการระบบสุขภาพในชุมชนท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงตามความต้องการของประชาชนพื้นที่
- ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างใกล้ชิดและเหมาะสม
- เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ของตนเอง
นอกจากนี้ ในการวางแผนงานและดำเนินการจะต้องมีความรอบคอบ เพื่อให้การถ่ายโอนเป็นไปอย่างราบรื่น และให้ประชาชนได้รับการบริการสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพอย่างแท้จริง
สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ระบุว่า แนวคิดการบริการสาธารณะแนวใหม่ (NPS) 7 ประการ ได้แก่ 1. บริการรับใช้พลเมือง ไม่ใช่ลูกค้า 2. เน้นการค้นหาผลประโยชน์สาธารณะ 3. เน้นคุณค่าความเป็นพลเมืองมากกว่าการเป็นผู้ประกอบการ 4. คิดเชิงกลยุทธ์ ปฏิบัติแบบประชาธิปไตย 5.การตระหนักในความรับผิดชอบไม่ใช่เรื่องง่าย 6. การให้บริการมากกว่าการกำกับทิศทาง 7.ให้คุณค่ากับคน ไม่ใช่แค่ผลิตภาพ เน้นให้ความสำคัญกับเรื่องคุณค่าหรืออุดมการณ์ สร้างความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเรื่องประสิทธิภาพหรือผลิตภาพ บนพื้นฐานของค่านิยมประชาธิปไตย ความเป็นพลเมือง และผลประโยชน์สาธารณะ
ภารกิจลดความเลื่อมทางสุขภาพ เป็นสิ่งที่ สสส. ให้ความสำคัญหนุนเสริมและขับเคลื่อนงานมาโดยตลอด การมีความมั่นคงทางสุขภาพ ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาวะ กาย จิต ปัญญา สังคม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบสุขภาพระดับชุมชนได้รับการดูแลแบบองค์รวม สร้างความเท่าเทียม ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
เรื่องโดย อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566 หัวข้อการบรรยาย : ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะแนวใหม่ วันที่ 8 กรกฎาคม 2566