“บุหรี่ไฟฟ้า” ปลอดภัยกว่า บุหรี่มวน ..? เรื่องจริง หรือแค่คำโปรยของผู้ผลิต ที่ไร้จริยธรรม?

อันตรายจากบุหรี่ 24 มิ.ย. 67 | เข้าชม: 817

การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุ ในการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ก่อนวัยอันควร หรือที่เราเรียกันว่า “สูบความตายผ่อนส่ง” ในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ครึ่งหนึ่งของประชากรชายสูบบุหรี่ ซึ่งมีจำนวนรวมกันกว่า 125 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่ทั่วโลก อีกทั้งในแต่ละปี และการสูบบุหรี่ ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรในภูมิภาคนี้กว่าหนึ่งแสนคนต่อปีด้วยกัน

เมื่อมีกระแสต่อต้านบุหรี่มวนเกิดขึ้น บริษัทบุหรี่หลายรายจึงหันมาผลิตบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้เหตุผลว่า “บุหรี่ไฟฟ้ามีพิษภัยน้อยกว่าบุหรี่มวน” ส่งเสริมให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทนบุหรี่มวน โดยชวนเชื่อว่า ผู้ติดบุหรี่สามารถใช้บุหรี่ไฟฟ้า ในการอดบุหรี่ได้ ข้อความดังกล่าวเป็นจริงมากน้อยเพียงใด และอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้ามีมากแค่ไหน?

ความหลากหลาย ของ “บุหรี่ไฟฟ้า” ในปัจจุบัน

บุหรี่ไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับสูบบุหรี่ ผ่านการสร้างความร้อนไอน้ำด้วยแบตเตอรี่ จากกาศึกษาวิจัยในปัจจุบัน พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าในท้องตลาด มีมากกว่า 550,000 รูปแบบ และมี 16,000 รสชาติ ทั้งรูปแบบกลิ่นและรสชาติ โดยมีการพัฒนาและปรับปรุง เพื่อให้ถูกใจกลุ่มเด็กและวัยรุ่น โดยบริษัทบุหรี่ มักพุ่งเป้าขายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญและจะเป็นลูกค้าในระยะยาว
 

ผลการสำรวจพฤติกรรมสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย 61,688 คน ปี พ.ศ. 2566 ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พบเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 9.1 และส่วนใหญ่ถูกเพื่อนชักชวนให้สูบร้อยละ 92.2 สิ่งที่น่ากังวลไปกว่านั้นมาก คือ เด็กที่สูบบุหรี่มีอายุน้อยลง เพราะเด็กเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่อยู่ชั้นประถม
 

บุหรี่ไฟฟ้า มีสาร “นิโคติน” ซึ่งเป็นสารเสพติดที่มีพิษภัยไม่น้อยกว่าบุหรี่มวน เป็นสารที่มีความเสพติดสูง ที่มีฤทธิ์เสพติดเทียบเท่า เฮโรอีน เมื่อได้รับสารดังกล่าว จะส่งผลต่อระบบประสาท กระตุ้นสมองและหัวใจ ทำให้เส้นเลือดหด ความดันเลือดสูงขึ้น และเสี่ยงต่อโรคมะเร็งในระบบทางเดินหายใจได้
 

แล้วแบบนี้ “บุหรี่ไฟฟ้า” จะปลอดภัยกว่า บุหรี่มวน จริงหรือ..? คำตอบคือ ไม่จริงครับ!!

นอกจากบุหรี่ไฟฟ้า จะประกอบไปด้วยสารเสพติดนิโคตินแล้ว บุหรี่ไฟฟ้า ยังประกอบไปด้วยสารอื่น ที่มีผลต่อสุขภาพได้มากมาย สารในบุหรี่ไฟฟ้า ที่สร้างความอันตรายให้กับร่างกาย เช่น ไดอาซีทิล (Diacetyl), อัลดีไฮด์ (Aldehyde), โลหะหนัก ตะกั่ว นิกเกิล ดีบุก และอื่นๆ มากกว่าพันชนิด เป็นสารพิษที่เกี่ยวข้องกับภาวะโรคปอดและหัวใจอักเสบรุนแรง จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยเรียกว่าภาวะนี้ว่า E-cigarette or vaping use-associated lung injury (EVALI)
 

นอกจากนี้ จากข้อมูลวิจัยจากหลายสถาบันหลายชาติ พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถทำให้ผู้สูบบุหรี่มวน เลิกบุหรี่ได้ และผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่มวนส่วนหนึ่งกลายเป็นผู้สูบทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า และยังมีโอกาสที่จะสารเสพติดชนิดอื่นต่อไปได้อีกด้วย ทั้งผู้สูบและผู้ใกล้ชิด..!!
 

ในปัจจุบัน แม้บุหรี่จะเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย แต่บุหรี่ ก็มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูบและผู้ใกล้ชิด ทำให้เกิดเป็นโรค ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาล และความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยและญาติ ซึ่งไม่ต่างกับ “บุหรี่ไฟฟ้า” ที่มีความเสี่ยงไม่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมปอดโป่งพอง ต้องได้รับความทุกข์ทรมานจากอาการหอบเหนื่อย เป็นเวลานานนับ 10 ปีก่อนจะสิ้นชีวิต ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดต้นต้องกลายเป็นอัมพาตตลอดชีวิต และผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดต้องใช้เงินทองที่สะสมมาตลอดชีวิตในการรักษาพยาบาล

 

แม้บุหรี่จะมีพิษภัยมหาศาล แต่สังคมโลก ยังเปิดโอกาลให้ผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้สูบ สามารถสูบบุหรี่ได้ ภายใต้ขอบเขตกฎเกณฑ์ของกฎหมายและสังคม การที่บริษัทผู้ผลิตและผู้ขายบุหรี่พยายามใช้กลยุทธ์ทางการค้า และกดดันให้ภาครัฐประเทศต่างๆ แก้ไขกฎหมาย เพื่อเปิดช่องทางให้สามารถค้าขายได้เพิ่มขึ้น การขยายกลุ่มผู้สูบไปยังเด็ก เยาวชน และผู้หญิง เพื่อให้ได้ผู้สูบกลุ่มใหม่ที่จะเป็นทาสบุหรี่ต่อไปในระยะยาว เป็นสิ่งที่พึงกระทำหรือไม่ในด้านจริยธรรม?
 

ดังนั้น หากใครที่คิดจะลอง หรือกำลังสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะ คิดว่าสามารถทดแทนการสูบบุหรี่ธรรมดาได้นั้น ขอให้คิดใหม่นะครับ การสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า”ก็ไม่ได้ตายช้า กว่า บุหรี่มวน อย่างแท้จริงครับผม…

วัยรุ่นยุคใหม่ เท่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งบุหรี่ ด้วยความห่วงใย จาก เภสัชกรใกล้บ้าน ร้านยาใกล้ใจ ครับผม