ศจย.ต่อยอดวิจัย หญ้าดอกขาว เลิกบุหรี่

ข่าว/กิจกรรม 29 มี.ค. 57 | เข้าชม: 2,744

 

ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ พบว่า อัตราการสูบบุหรี่มวนเองมากถึงร้อยละ 53.51 ของผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด โดยผู้สูบบุหรี่มวนเองจะสูบเฉลี่ย 10 มวนต่อวัน ค่าใช้จ่ายเดือนละ 162.44 บาท หรือปีละ 1,976,30 บาท ขณะที่ผู้สูบบุหรี่ซองจะมีค่าใช้จ่ายวันละ 21.52 บาท หรือเดือนละ 645.52 บาท หรือปีละ 7,853.85 บาท ซึ่งกลุ่มผู้สูบบุหรี่มวนเองส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล การเข้าถึงข้อมูลการเลิกบุหรี่มีน้อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการเลิกบุหรี่ที่มีค่าใช้จ่ายเกิน 200 บาท จึงไม่เต็มใจจ่ายเพื่อเลิกบุหรี่ ดังนั้น จึงมีการต่อยอดความรู้การใช้สมุนไพรหญ้าดอกขาวในการเลิกบุหรี่ เพื่อช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายและทำให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ได้มากขึ้น


ดร.ศิริวรรณ กล่าวว่า ศจย.ได้ทุกชุดโครงการศึกษาวิจัยต่อยอดองค์ความรู้สมุนไพรหญ้าดอกขาวช่วยเลิกบุหรี่ ปี 2552-2554 ซึ่งมีนักวิจัย นักวิชาการเข้าร่วมการศึกษาจำนวน 8 โครงการ เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสมุนไพรหญ้าดอกขาวในด้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบันคณะเภสัชกรรมอยู่ระหว่างการทดลองเป็นสมุนไพรชนิดเม็ดและแคปซูล โดยใช้กระบวนการเคี่ยวบริสุทธิ์ ซึ่งลดความเป็นพิษข้างเคียงลงจากเดิมที่หญ้าดอกขาวชนิดชงจะพบโพแทสเซียมสูง ซึ่งจะเสี่ยงต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคไต ซึ่งการพัฒนาให้ปริมาณโพแทสเซียมต่ำลง จะมีประโยชน์และสามารถนำมาใช้กับผู้ต้องการเลิกสูบบุหรี่ได้ดีขึ้น ซึ่งในปี 2554 หญ้าดอกขาวได้รับการบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว


หากมีการต่อยอดผลิตสมุนไพรโดยภาครัฐ เช่น องค์การเภสัชกรรมหันมาผลิตก็จะทำให้ช่วยในการเลิกบุหรี่ของประชาชนได้มากขึ้น เพราะมีต้นทุนต่ำลง โดยปัจจุบันการเลิกบุหรี่จะต้องอาศัยกระบวนการที่เริ่มจากการให้คำปรึกษา เพื่อให้ผู้สูบมีความต้องการเลิกบุหรี่ด้วยตนเองก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งเมื่อเริ่มเลิกบุหรี่ผู้สูบจะเกิดอาการถอนยา ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาหรือสมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่มาช่วย เพื่อทำให้สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ” ดร.ศิริวรรณ กล่าว


ที่มาข่าว : ผู้จัดการออนไลน์
https://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000096474