'ฟ้าใส'เพราะ'ไร้'ควันบุหรี่

ข่าว/กิจกรรม 29 มี.ค. 57 | เข้าชม: 2,308

         ภายหลังเริ่มมีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่เมื่อปี 2530 ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมานี้ อัตราการสูบบุหรี่ในประ เทศไทยลดลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2554 ร้อยละ 24.7 และลดลงเหลือร้อยละ 19.94 ในปี 2556 ข้อมูลจากการเก็บสถิติของคลินิกฟ้าใสพบว่า ผู้สูบบุหรี่กว่าครึ่งอยากเลิกสูบบุหรี่ แต่ยังไม่สามารถเลิกได้ทันทีในครั้งแรก  เมื่อไม่นานมานี้ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และคลินิกฟ้าใส ร่วมจัดงาน "มหกรรมวิชาการฟ้าใส 2557" เรื่อง "The Changing of Cigarettes" ณ ห้องประชุมสยามมกุฎราชกุมาร ชั้น P3 แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้การขับเคลื่อนงานให้สังคมไทยไร้ควันบุหรี่ และลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงให้ได้มากที่สุด

          โอกาสนี้ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ขึ้น กล่าวปาฐกถาเกียรติยศ ในหัวข้อ "สุขภาพคนไทยดีแน่ หากไร้ควันบุหรี่" ว่า แม้ภาพรวมของการรณรงค์ขับเคลื่อนให้สังคมไทยไร้ควันบุหรี่จะมีผลลัพธ์ที่ดี แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะการที่มีจำนวนผู้สูบเพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยในปี 2554 น่าจะเป็นเครื่องเตือนคนทำงานด้านสุขภาพที่ดีว่า เราต้องตระหนักและมีความเข้มแข็งในการรณรงค์เพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ และป้องกันคนไทยจากภัยของบุหรี่ให้มากขึ้นกว่าเดิม
          "บอกได้ว่าตัวเลขที่ลดลงมานี้ยังไม่นิ่ง และยังคงมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน สำหรับสาเหตุที่คนสูบมากขึ้นในปี 2554 เพราะยาเส้นที่ใช้ในบุหรี่มวนเองมีการเสียภาษีต่ำ คนเข้าถึงง่าย คนไทยเลยหันไปสูบบุหรี่มวนเองเพิ่มขึ้น ประกอบกับการรณรงค์ที่เข้าไม่ถึงพื้นที่ชนบทที่ไกลออกไป เราจึงต้องพยายามเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ห่างไกลให้ได้โดยเร็ว เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่มวนเองที่มีมากกว่าในเมืองถึง 3 เท่าลง จะได้ไม่เป็นภาระสิ้นเปลืองกับงบประมาณด้านการรักษาสุขภาพ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้เกิดภาระโรคสูงเป็นอันดับ 3 รองจากอันดับ 1 ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ไม่เหมาะสม และอันดับ 2 ผลจากการดื่มสุรา นอกจากนี้ผลจากการสูบบุหรี่ยังก่อให้เกิดโรคอีกกว่า 25 โรค เฉพาะมะเร็งก็มากกว่า 10 ชนิด" ศ.นพ.อุดมศิลป์กล่าว
         สำหรับปัญหาการเลิกบุหรี่ได้ยาก  พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลกรุงเทพ ผู้ให้คำปรึกษากับผู้ที่อยากจะเลิกสูบบุหรี่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้สูบจะอ้างว่าสูบเพราะเครียด ทั้งๆ ที่หากสังเกตให้ดีจะพบว่า แรกเริ่มที่สูบบุหรี่กว่าร้อยละ 90 ไม่มีใครเริ่มต้นสูบเพราะความเครียด แต่สูบเพราะอยากลอง โดยผู้สูบบุหรี่มากกว่าร้อยละ 60 ยอมรับว่าเพราะอยากเลิกสูบบุหรี่จริงๆ จึงเลือกที่จะมาพบแพทย์
         "การมาพบแพทย์ของคนไข้เป็นเพราะผู้สูบบุหรี่เชื่อถือ และให้ความสำคัญกับคำแนะนำของแพทย์ แพทย์จึงต้องสร้างแรงจูงใจให้คนไข้ ใช้ความเข้าใจ ไม่เร่งเร้า ไม่บังคับ โดยจากประสบ การณ์ที่ผ่านมา การคุยกับคนไข้ด้วยการถามความต้องการของเขา จะช่วยให้วางเป้าหมายที่ชัดเจนในการเลิกได้ หากแต่การวางเป้าหมายที่ไม่เป็นจริง เช่น จะเลิกให้ได้ใน 10 วัน จะทำให้เกิดความล้มเหลวสูง" พญ.อภิสมัยกล่าว
          ทั้งยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า มีผลสำรวจระบุ ในช่วงของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเลิกบุหรี่จะมีโอกาสเลิกและสูบอยู่ 6 ครั้ง ฉะนั้นการทำไม่สำเร็จในครั้งแรกจึงไม่นับเป็นปัญหาหรือความล้มเหลว แต่เป็นช่วงที่ได้ทดลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมว่า กิจกรรมใดเอื้อหรือไม่เอื้อต่อการเลิกสูบบุหรี่ ทั้งนี้การกำหนดกิจกรรมที่มีความหมายให้กับผู้สูบ ทั้งการออกกำลังกาย อาหารที่ควรรับประทาน การแบ่งเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น จะช่วยให้ผู้สูบมีแนวโน้มในการเลิกสูบบุหรี่ได้มากขึ้น
         ด้าน ผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการ สถาบันโภชนาการอาหาร  มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงประเด็นการกินอาหารขณะเลิกบุหรี่ว่า ช่วงเลิกบุหรี่เป็นช่วงที่ผู้สูบจะต้องได้รับสารอาหารเข้าไปเพื่อซ่อมแซมร่างกายและช่วยลดความอยาก ขั้นตอนนี้แพทย์มักจะให้กินวิตามินซีเพื่อจับอนุมูลอิสระที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยมีงานวิจัยพบว่า ประมาณร้อยละ 25 ของผู้ที่สูบบุหรี่นั้น ขาดวิตามินซี ถัดมาเป็นแมกนีเซียม เกลือแร่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการหมุนเวียนเลือด และช่วยในการทำงานของระบบประสาทที่เกิดจากความเครียดขณะงดสูบบุหรี่ โดยอาหารที่มีแมกนีเซียมสูงได้แก่ บร็อกโคลี ผักโขม และธัญพืชต่างๆ นอกจากนี้ยังมีซีลีเนียม อีกหนึ่งเกลือแร่ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระได้นั้น ช่วยในการส่งผ่านกระแสประสาท และช่วยในการทำให้หัวใจเต้นปกติ แหล่งอาหารได้แก่ อาหารทะเล ตับ ไต และเนื้อสัตว์ต่างๆ
        "หากผู้ที่ตั้งใจจะเลิกบุหรี่มีความอยากที่จะสูบขึ้นมาอีก สามารถอมหรือเคี้ยว 'ชะเอมเทศ' เพื่อช่วยลดความอยากได้ หรือหากมีอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ก็สามารถกิน 'แกงขี้เหล็ก' หรือกิน 'ขิง' เพื่อช่วยขับเหงื่อและสารพิษออกทางผิวหนัง" นักโภชนาการอาหารแนะ
         การออกกำลังกายเป็นอีกแนวทางเลิกบุหรี่ ผศ.ดร.เปรมทิพย์ ทวีรติธรรม อาจารย์ประจำคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำแนะนำว่า การออกกำลังกายเพื่อช่วยสลายสารพิษนั้นควรเป็นแบบระยะยาว และต้องเป็นการออกกำลังกายประเภทแอโรบิกอย่างหนัก ให้อัตราการเต้นของหัวใจทำงานมากที่สุด เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยถอนพิษและลดความอยากได้ แต่ยังช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟีน และสารสื่อประสาทอีกหลายชนิดที่ให้ความรู้สึกมีความสุขออกมาทดแทนสารสื่อประสาทที่ให้ความสุขจากการถูกกระตุ้นด้วยสารนิโคติน.
         บอกได้ว่าตัวเลขที่ลดลงมานี้ยังไม่นิ่ง และยังคงมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน สำหรับสาเหตุที่คนสูบมากขึ้นในปี 2554 เพราะยาเส้นที่ใช้ในบุหรี่มวนเองมีการเสียภาษีต่ำ คนเข้าถึงง่าย คนไทยเลยหันไปสูบบุหรี่มวนเองเพิ่มขึ้น ประกอบกับการรณรงค์ที่เข้าไม่ถึงพื้นที่ชนบทที่ไกลออกไป เราจึงต้องพยายามเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ห่างไกลให้ได้โดยเร็ว เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่มวนเองที่มีมากกว่าในเมืองถึง 3 เท่าลง จะได้ไม่เป็นภาระสิ้นเปลืองกับงบประมาณด้านการรักษาสุขภาพ

 

https://bit.ly/1dCJKPq