สังคมปลอดบุหรี่ มองนิวซีแลนด์แล้วมองประเทศไทย

ข่าว/กิจกรรม 26 ธ.ค. 65 | เข้าชม: 1,502

มีคนสนใจข่าวนิวซีแลนด์ผ่านกฎหมาย ห้ามคนที่เกิดหลัง ปี พ.ศ.2552 เป็นต้นไปซื้อบุหรี่ตลอดชีวิต หวังทำให้นิวซีแลนด์”ปลอดบุหรี่” ภายในปี พ.ศ.2568 นับเป็นประเทศแรกที่ผ่านกฎหมายนี้สำเร็จ

แต่กฎหมายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากสูญญากาศ
นิวซีแลนด์เริ่มรณรงค์ควบคุมยาสูบในเวลาใกล้เคียงกับอังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ โดยต่างเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ หลังจากที่ราชวิทยาลัยอายุแพทย์อังกฤษประกาศว่า “การสูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งปอดและโรคเรื้อรังอื่น ๆ” เมื่อ พ.ศ.2505
.
เมื่อปี พ.ศ.2532 ที่สหรัฐอเมริกาเจรจากดดันประเทศไทยให้เปิดตลาดบุหรี่ กรณีพิพากถูกส่งไปยังที่ประชุม แกตต์ (องค์การการค้าโลกในปัจจุบัน)ให้เป็นผู้ตัดสิน มีการตั้งตุลาการ 3 คน เพื่อตัดสินคดี เครือข่ายสุขภาพในอเมริกาที่สนับสนุนฝ่ายไทย แนะนำให้ประเทศไทยเลือกนิวซีแลนด์ เพราะมีความจริงจังในการควบคุมยาสูบ ตุลาการอีก 2 คน มาจาก ฟินแลนด์และสวิตเซอร์แลนด์ เล่าเพื่อให้เห็นเครดิตของนิวซีแลนด์ในเรื่องควบคุมยาสูบตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อน
.
เมื่อปี พ.ศ.2539 คณะเราที่ศึกษาเรื่องการก่อตั้ง สสส. ที่ไปดูงานองค์กรสร้างเสริมสุขภาพที่ออสเตรเลีย VicHealth (งบประมาณจากภาษียาสูบ) เราได้ไปดูงานที Health Sponsorship Council ของนิวซีแลนด์ (จากงบประมาณปกติ) ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2533 เพื่อสนับสนุนการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่และปัญหาสุขภาพอื่นหลังจากที่นิวซีแลนด์ผ่านกฎหมายสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในปีเดียวกัน
 
ภาพตัดที่ชัดเจนระหว่างนิวซีแลนด์กับประเทศไทย คือ ของเขามีร้านขายปลีกบุหรี่ 6,000 ราย และจะลดให้เหลือ 600 ราย ทั่วประเทศ ขณะที่ประเทศไทยมีร้านขายปลีกบุหรี่ 7-800,000 ราย ซึ่งยิ่งมีจุดขายเยอะ ยิ่งเอื้อต่อการสูบบุหรี่ เกิดนักสูบหน้าใหม่และเลิกยาก เราขอให้ขึ้นค่าใบอนุญาตขายปลีก จำนวนร้านขายปลีกยาสูบจะได้ลดลง ก็มีฝ่ายที่สงสารร้านขายปลีก อย่าขึ้นเลย
.
ไทยเราจะขึ้นภาษีบุหรี่ที ก็ต้องไม่ให้กระทบ หรือกระทบน้อยที่สุดต่อโรงงานยาสูบ และชาวไร่ยาสูบ จะขึ้นภาษีบุหรี่ยาเส้น ก็กลัวกระทบชาวไร่ยาเส้น รวมทั้งสงสารคนสูบบุหรี่ยาเส้นที่ยากจน
.
จังหวัดที่มีคนสูบบุหรี่ เกิน หนึ่งแสนคน มีคนทำงานประสานงานควบคุมยาสูบเพียง 1-2 คน หลายจังหวัดที่มีคนสูบบุหรี่ 2-3 แสนคน ก็มีคนประสานงานควบคุมยาสูบเพียง 1-2 คน แผนยุทธศาสตร์ควบคุมยาสูบจังหวัด จะเกิดมรรคผลได้อย่างไร
.
การบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ หรือการควบคุมบุหรี่หนีภาษี ประสิทธิภาพเป็นอย่างที่เราทราบ ๆ กันอยู่
.
การรักษาการเลิกสูบบุหรี่ ของอังกฤษเขารักษาฟรีมากว่า 20 ปีแล้ว ของเรายังเถียงกันอยู่ ว่าการให้ยาเลิกบุหรี่อยู่ในชุดสิทธิ์ประโยชน์บัตรทอง คุ้มหรือไม่คุ้ม
ตอนนี้เครือข่ายบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ รุกเข้าไปถึง ส.ส. คณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันขอให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า อ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ ทั้ง ๆ ที่ 30 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมี ส.ส. คณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ความสนใจ ช่วยแก้อุปสรรคปัญหาการควบคุมยาสูบของประเทศเลย ไม่เคยเลย
.
หวังว่าที่เขียนมานี่จะไม่ทำให้พวกเราท้อแท้ แต่เพื่อให้รับรู้ความจริง เรารณรงค์มามากกว่า 30 ปี เราเปลี่ยนค่านิยมการสูบบุหรี่ของสังคมไปได้มาก แต่เพราะอำนาจการเสพติดของนิโคตินในบุหรี่ และปัจจัยที่จะทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ เรายังทำได้ไม่ดี อัตราการสูบบุหรี่จึงลดลงช้าอย่างที่เห็น
.
และกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระะเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงรับสั่งกับศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อ พ.ศ.2531 ว่า ”เรื่องการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่นี่ ฉันเห็นด้วย” เป็นแรงบันดาลใจ ที่เราจะท้อแท้ไม่ได้ เราต้องพยายามทำงานต่อไป เพื่อลดคนที่จะเสพติดยาสูบทุกชนิดครับ
 
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ