แพทย์อาวุโสรวมพลัง หนุนกฎหมายบุหรี่ใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย

ข่าว/กิจกรรม 8 เม.ย. 58 | เข้าชม: 2,791

วันที่ 30 มีนาคม 2558 สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จัดพิธีประกาศปฏิญญา ‘แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขอาวุโสหนุนกฎหมายบุหรี่ใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย’ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นชอบสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ถือเป็น 1 ในกฎหมายเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุข 20 ฉบับ ที่ได้นำเสนอต่อรัฐบาล เพราะถือเป็นกฎหมายที่จำเป็นต้องปรับปรุง เนื่องจากมีความล้าหลังไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ และไทยมีข้อผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ในการปกป้องคนไทยจากพิษภัยของยาสูบ

ทั้งนี้ ปัจจุบันเลยกำหนดมา 4 เดือนแล้ว แต่ร่าง พ.ร.บ.ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อร้านโชห่วยหรือชาวไร่ยาสูบ เพราะกฎหมายมีเนื้อหาควบคุมการทำการตลาดที่กระทบต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งจะกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่

“7 ใน 10 คน ของเด็กไทยที่เคยสูบบุหรี่จะติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต” ประธานสมาพันธ์เครือข่ายฯ กล่าว เเละว่า จะผลักดันในรัฐบาลนี้จนกว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. 

ด้าน ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ หัวหน้าแพทย์ประจำพระองค์ ในฐานะผู้เสนอกฎหมายพิมพ์ภาพคำเตือนข้างซองบุหรี่คนแรกของไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่หรือริเริ่มสูบบุหรี่ และมุ่งเน้นเพื่อสุขภาพของคนไทยที่ซื้อขายกันไม่ได้ ทั้งนี้ เด็กมีโอกาสถูกชักจูงได้ง่าย ด้วยไม่ความคิดถึงผลกระทบที่ตามมา โดยเฉพาะสารเสพติดจะค่อย ๆ ออกฤทธิ์ เมื่อผู้สูบมีอายุมากขึ้น จึงวอนให้ประชาชน บริษัทผู้ค้าบุหรี่ และรัฐบาลเข้าใจ

ขณะที่ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันน่าจะมีโอกาสในการทำความดี แต่ดูไปดูมาเริ่มไม่แน่ใจ แม้จะกล้าถือปืนออกมา แต่กลับขาดความกล้าตัดสินใจในเรื่องที่ดี เพื่อความสุขของประชาชนแท้จริง เพราะเมื่อมีเสียงคัดค้านก็ชักฝ่อลงไปเรื่อย ๆ ทำให้ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ถูกสกัด

“หากไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ทันเดือนเมษายน 2558 เวลาที่เหลืออยู่จะไม่เพียงพอสำหรับการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วาระ 2 และ 3” อดีต รมช.สธ. กล่าว และว่า ตอนนี้จะให้ออกมาเป่านกหวีดเหมือนสมัยผลักดันร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คงทำไม่ได้ เพราะติดกฎอัยการศึก แต่บางทีก็ต้องคิดหาวิธีเป่านกหวีดพร้อมกันทั้งประเทศเหมือนกัน

ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารณรงค์ไม่สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง โดยลดจำนวนได้เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ แต่กลุ่มเด็กและเยาวชนกลับเพิ่มจำนวนสูงขึ้น เพราะมีการใช้สื่อโซเซียลมีเดียในการสื่อสาร เล่นทั้งบนดินและใต้ดิน เรียกว่า เล่นกันใต้เข็มขัด จึงเกินจะต้านทานได้ หากไม่เร่งผลักดันกฎหมายที่ทันสมัย

ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีเด็กเกิดจำนวน 7 แสนคน/ปี จากเดิม 1 ล้านคน/ปี ทำให้มีจำนวนเด็กเพียงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด เพราะฉะนั้นเด็กทุกคนจึงเป็นพลังของประเทศในอนาคต ด้วยเหตุนี้ ทำไมจึงไม่หันมาพัฒนาทรัพยากรเหล่านี้ให้ดีที่สุด โดยการมอบ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นของขวัญ เพื่อคืนความสุขแก่ประชาชน

ด้าน นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวชื่นชมการทำหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งดำเนินนโยบายเพื่อความสุขของประชาชน และชื่นชม ครม.เสียสละเข้ามาบริหารประเทศในยามคับขัน ดังจะเห็นว่า ผู้ทำหน้าที่ใน ครม. ต่างตั้งใจทำงานเต็มที่ ฉะนั้น ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจึงเป็นกฎหมายหนึ่งที่ควรใช้โอกาสครั้งนี้สร้างสิ่งที่ดีไว้ให้แผ่นดิน แม้จะมีอุปสรรคก็ตาม

“เราต้องการให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีและเยาวชนไทยมีอนาคตที่ดี ไม่สูญเสียเงินทองไปกับการรักษาร่างกายในอนาคต ถือเป็นเรื่องระหว่างบุญกับบาป หากใครต้องการร่วมทำบุญสนับสนุน ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะประเทศชาติ เยาวชน ได้ประโยชน์จาก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้” อดีต รมว.สธ. ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จะมีผลทำให้จำนวนเยาวชนรายใหม่ที่เสพติดบุหรี่ลดลง โดยพัฒนามาจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ทันกลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมบุหรี่ และจำกัดการเข้าถึงยาสูบของเยาวชนที่กฎหมายปัจจุบันยังไม่ครอบคลุม

นอกจากนี้ยังส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่ ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น และรัฐบาลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ได้มากขึ้น โดยมาตรการต่าง ๆ เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลก .

 

สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย