สื่อท้องถิ่น 4 ภาค สนับสนุนกฎหมายบุหรี่ฉบับใหม่

ข่าว/กิจกรรม 8 เม.ย. 58 | เข้าชม: 2,628

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า  มาตรการต่าง ๆ ใน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จะมีผลทำให้จำนวนเยาวชนรายใหม่ที่เสพติดบุหรี่ลดลง  โดยกฎหมายฉบับใหม่นี้พัฒนามาจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  เพื่อให้ทันกับกลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมบุหรี่ และจำกัดการเข้าถึงยาสูบของเยาวชนที่กฎหมายฉบับปัจจุบันยังไม่ครอบคลุม รวมทั้งส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่ เกื้อหนุนและสร้างแรงจูงใจให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น   อันจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น และรัฐบาลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ได้มากขึ้น  อีกทั้งยังปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลก ที่มี 180  ประเทศ เป็นภาคีสมาชิก เป็นการแสดงถึงความจริงใจของรัฐบาล ในการที่จะปกป้องคนไทย จากพิษภัยร้ายแรงของยาสูบและควันบุหรี่มือสอง ตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญา

ตลอดช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา  มีกลุ่มและองค์กรต่าง ๆ ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอ ครม.เพื่อพิจารณา นำขบวนโดย สมาคมการค้ายาสูบไทย สมาคมผู้บ่มผู้ปลูก และผู้ค้าใบยาสูบไทย และสภาธุรกิจอเมริกา-อาเซียน  ทั้งหมดสนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติทั้งสิ้น การกระทำของกลุ่มคัดค้านได้ทำการเคลื่อนไหวโดยการส่งจดหมาย ถึง นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และ สนช.  รวมทั้งออกข่าวคัดค้านผ่านสื่อต่าง ๆ  อ้างเหตุผลว่าร่าง กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้ค้าปลีกยาสูบ และชาวไร่ยาสูบเดือดร้อนอย่างหนัก  ซึ่งในความเป็นจริงผู้ค้าปลีกแต่ละรายจะได้รับผลกระทบน้อยมาก  จากหลักฐานที่ผ่านมาตลอดเวลายี่สิบกว่าปี แม้จะมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อการควบคุมยาสูบออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ผลที่เกิดขึ้นคือยอดขายบุหรี่ซิกาแรตไม่ได้ลดลงจากปีละ 2,000  ล้านซอง เนื่องจากประชากรที่เพิ่มขึ้น  ปัญหาจริงจึงอยู่ที่บริษัทบุหรี่ที่ไม่ต้องการให้กำไรปีละหลายพันล้านบาทลดลง

ศ.นพ.ประกิต  กล่าวเพิ่มเติมว่า  สื่อมวลชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารไปยังกลุ่มประชาชนในท้องถิ่นให้มากขึ้น  เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวกับการทำไร่ การบ่มใบยาและการค้าใบยาสูบเลย 

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :  ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ โทร. 0-2278-1828 / 08-1822-9799