กลับสู่โรงเรียนอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโควิด-19

คอลัมน์ความคิด 9 พ.ย. 64 | เข้าชม: 1,861

หากพูดถึงชีวิตวัยเรียน เชื่อว่าแทบทุกคนคงเคยมีโอกาสได้สัมผัส และย้อนนึกถึงความทรงจำมากมายในช่วงเวลาเหล่านั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นความผูกพันกับเพื่อนฝูง ความประทับใจที่มีต่อครู อาจารย์ ความใจดีของคุณป้าที่ขายข้าวแกงในโรงอาหาร หรือภาพของการเห็นคุณลุงภารโรงที่ทำความสะอาดอยู่หน้าประตูทางเข้าโรงเรียนทุกเช้า

“โรงเรียน” จึงเป็นมากกว่าสถานที่ แต่เป็นสังคมแห่งหนึ่งซึ่งหล่อหลอมเด็ก ๆ เเละเยาวชนให้เติบโตขึ้น ด้วยวิชาความรู้ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งประสบการณ์ชีวิตต่าง ๆ มากมาย ถึงแม้ทุกวันนี้โลกแห่งการเรียนรู้จะถูกย่อลงให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ด้วยการเชื่อมต่อผ่านหน้าจอและอินเทอร์เน็ต แต่ก็ไม่ใช่สำหรับเด็กทุกคน ดังนั้น โรงเรียน จึงยังคงเป็นพื้นที่สำคัญที่เปรียบเสมือนสังคมขนาดทดลอง ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิต ก่อนก้าวเข้าสู่โลกและสังคมขนาดใหญ่ ที่มีผู้คนหลากหลาย และเรื่องราวมากมายที่รอพวกเขาอยู่ในอนาคต

แม้ทุกวันนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ก็ยังไม่เป็นที่น่าวางใจนัก แต่ในส่วนของการใช้ชีวิต และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมก็ยังต้องดำเนินต่อไป การคืนสังคมโรงเรียนให้กับเด็ก ๆ เช่นกัน ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม ให้เด็ก ๆ ได้กลับไปใช้ชีวิตที่โรงเรียนได้อย่างปลอดภัยที่สุด นั่นจึงเป็นที่มาของงานสัมมนาออนไลน์  กลับสู่โรงเรียน ชีวิตวิถีใหม่...เราต้องรอด ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) เพื่อร่วมหาคำตอบและแนวทางการเตรียมตัวสำหรับนักเรียน ผู้ปกครอง และสถานศึกษาในการกลับเข้าสู่การเปิดการเรียนการสอนแบบ On site อีกครั้ง

รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ กุมารแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อระบบสาธารณสุขสามารถรองรับการรักษาโรคได้ และมีประชากรที่ได้รับวัคซีนในวงกว้างแล้ว มาตรการเปิดเมือง เปิดประเทศจึงเกิดขึ้น นั่นรวมถึงการเปิดให้เด็กไปเรียนที่โรงเรียนด้วย เพราะการที่โรงเรียนถูกปิดนั้น ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ มากมาย ดังนี้

1. สุขภาพของเด็ก – การที่เด็กมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน หรือการที่เด็กต้องใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้เด็กสามารถเชื่อมต่อกับสื่อใดเป็นโลกออนไลน์ก็ได้ อาจทำให้เด็กติดเกมได้

2. ความสัมพันธ์ในครอบครัว – การที่สมาชิกในบ้านต้องใช้เวลาร่วมกันตลอดแทบจะ 24 ชั่วโมง ส่งผลให้เกิดความรู้สึกอึดอัด ขาดความเป็นส่วนตัว ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่สะดวก รวมทั้งความไม่เข้าใจในธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กของผู้ปกครอง อาจทำให้เกิดความหงุดหงิด หรือตำหนิเด็กได้ โดยเฉพาะธรรมชาติของเด็กเล็กที่ต้องเรียนรู้โดยการเคลื่อนไหว มากกว่าการนั่งนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน ทำให้เกิดการกดศักยภาพของเด็กได้

3. ความรุนแรงในครอบครัว – ช่วงที่เด็กต้องเรียนออนไลน์ สายด่วนปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต หรือปรึกษาปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะความเครียดของผู้ปกครอง และการที่เด็กต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด คนรับรู้น้อย ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากภายนอกได้

4. การศึกษา การเรียนรู้

5. พัฒนาการ

6. รายได้ครอบครัว – ผู้ปกครองขาดรายได้จากการปิดกิจการต่าง ๆ ส่งผลต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจโดยภาพรวมด้วย

นายเพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า มาตรการหลักที่เป็นตัวกำหนดการอนุญาตให้เปิดเรียนที่โรงเรียน คือ ครูและบุคลากรในพื้นที่เสี่ยงสูง ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป สำหรับครูและบุคลากรในพื้นที่อื่น ๆ ต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป รวมถึงขอความร่วมมือผู้ปกครอง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคประจำตัวให้เข้ารับวัคซีน แต่ในส่วนของนักเรียนนั้นไม่ได้กำหนด และยังมีการจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 12 ปี มีการจัดการเรียนการสอนแบบ Small Bubble แบ่งเด็กเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ให้เด็ก ๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครู นอกจากนี้ ยังเน้นในส่วนของสิ่งแวดล้อมและความสะอาด โดยเฉพาะในจุดสัมผัสร่วมให้บ่อยที่สุดด้วย 

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นมาสำหรับผู้ใหญ่ก่อน เนื่องจากอัตราการติดเชื้อในเด็กนั้น มีอัตราความรุนแรงของโรคน้อยกว่า คนที่ได้รับวัคซีน ก็เปรียบเหมือนคนที่มีเสื้อเกราะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ดังนั้น เราจึงให้บุคคลที่อยู่รอบตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็น คนในครอบครัว หรือบุคลากรที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครู แม่บ้าน แม่ครัว ภารโรง รับวัคซีนให้ครบสองเข็ม ซึ่งจะทำให้เด็กนั้นได้ประโยชน์ทางอ้อมไปด้วย แม้จะยังไม่ได้รับวัคซีนก็ตาม

“โรงเรียน” ยังคงเป็นพื้นที่จำเป็นในการสร้างโอกาส และการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ให้กับเด็ก ๆ แม้การเปิดเทอมในช่วงนี้ อาจทำให้ผู้ปกครอง คุณครู รวมถึงตัวเด็ก ๆ เอง มีความกังวลอยู่บ้าน แต่ด้วยมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมพร้อมของสถานศึกษา จะช่วยให้การเรียนการสอนดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย  แต่ถึงแม้ว่ามาตรการต่าง ๆ จะดีเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าหากขาดความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย มาตรการก็จะใช้ไม่ได้ผล

สสส. และภาคีเครือข่าย เชื่อมั่นว่าเด็กเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีพลัง สามารถดันเปลือกแข็งของเมล็ดให้แตกและงอกเป็นต้นกล้าได้ หากได้อยู่ในที่ที่มีดิน ปุ๋ย และสภาพแวดล้อมเหมาะสม ดังนั้น พลังความร่วมมือ ร่วมใจจากทุกฝ่าย ในการป้องกันและดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ รวมถึงการเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถกลับไปเรียนได้อย่างมั่นใจ และปลอดภัยมากขึ้น เราจะสามารถคืนพื้นที่สร้างประสบการณ์และความทรงจำดี ๆ ให้กับพวกเขาได้เติบโต และพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป

 

เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลบางส่วนจาก งานสัมมนาออนไลน์  กลับสู่โรงเรียน ชีวิตวิถีใหม่...เราต้องรอด