แรงงานหญิง ชีวิตเปลี่ยน เมื่อเลิก 'บุหรี่'

คอลัมน์ความคิด 20 ต.ค. 57 | เข้าชม: 1,924

ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งชายและหญิง ถือเป็นประเด็นสำคัญทำให้คุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้แย่ลง นับเป็นปัญหาใหญ่ท้าทายภาครัฐให้เข้ามาจัดระเบียบและสร้างกระบวนการต่างๆ ให้กับแรงงานได้ตระหนักถึงพิษภัยห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว และปัญหาเหล่านี้ได้ถูกนำมาถกกันในเวทีถอดบทเรียนการทำงาน "บุหรี่ภัยคุกคามคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ" จัดโดยสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (ไทยเกรียง) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์

น.ส.อรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (ไทยเกรียง) บอกว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2556 พบว่า คนไทยสูบบุหรี่ 10.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.94 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม แต่ละปีภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาจำนวนมาก และที่เห็นปัญหาชัดเจนคือ เกือบ 90% ของกลุ่มแรงงานนอกระบบทั้งหญิงและชาย เช่น วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือผู้ที่มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่สูบบุหรี่แทบทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนี้สิน รายรับไม่พอกับรายจ่าย คุณภาพชีวิตตกต่ำ

จากปัญหาและผลกระทบดังกล่าวจึงเกิดเป็นที่มาของโครงการ "ลดละเลิกบุหรี่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า" โดยมุ่งไปที่กลุ่มอาชีพอิสระ ได้แก่ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซาเล้งของเก่า แม่ค้าหาบเร่แผงลอย ในพื้นที่เขตวัฒนา เขตป้อมปราบฯ เขตบึงกลุ่ม กรุงเทพฯ และ ต.บางจาก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ทั้งหมด 622 ราย ในจำนวนนี้สมาชิกกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ ต.บางจาก สูบบุหรี่มากที่สุด 279 ราย

จากนั้นได้คัดกรองคนที่สมัครใจอยากเลิกบุหรี่จำนวน 60 ราย โดยมีการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้เข้าใจพิษภัยของบุหรี่ บอกวิธีช่วยให้เลิกบุหรี่ มีอาสาสมัครทั้งหญิงชายลงไปติดตามให้กำลังใจ พร้อมเชิญวิทยากรมาให้ความรู้ให้คำปรึกษาและบูรณาการร่วมกัน โดยขณะนี้มีผู้ที่สมัครใจเลิกบุหรี่ได้สำเร็จแล้ว 8 ราย น.ส.ใกล้รุ่ง วิลาส อายุ 21 ปี อาชีพแม่ค้าแผงลอยย่านโบ๊เบ๊ อดีตผู้ที่คยสูบบุหรี่ใน

ขณะตั้งครรภ์ เล่าว่า เริ่มสูบบุหรี่ตอนอายุ 12 ปี เพราะเห็นพ่อกับแม่สูบบุหรี่
"โครงการนี้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้และเปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น ตอนนี้เลิกบุหรี่ได้ 7 เดือนแล้ว ชีวิตเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง มีเงินเก็บมากขึ้น ครอบครัวมีความสุข ทะเลาะกับสามีน้อยลง สุขภาพร่างกายแข็งแรง ฝากถึงคนที่สูบบุหรี่ให้พยายามลดละเลิก ให้คิดถึงครอบครัว เอาเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ เช่น เป็นทุนการศึกษาลูก" น.ส.ใกล้รุ่งกล่าว

ด้านน.ส.มณีรัตน์ พูลสวัสดิ์ อายุ 30 ปี ชาว กทม. ซึ่งกำลังตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน แต่ยังไม่เลิกสูบบุหรี่ ระบุว่า แม้จะรู้ว่าการสูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อลูก แต่จิตใจไม่เข้มแข็ง สิ่งที่ทำได้คือ แค่ลดปริมาณการสูบลงวันละ 1 มวน หรือบางวันพยายามจะไม่สูบ ต่างจากเมื่อก่อนที่สูบวันละ 2 ซอง หมดค่าใช้จ่ายไปกับค่าบุหรี่หลายหมื่นบาทแล้ว

"แม้หมอก็แนะนำว่าสูบบุหรี่อันตรายต่อลูกในท้อง แต่ไม่รู้จะทำยังไงเพราะเลิกสูบไม่ได้ ที่ผ่านมาก็เจอผลกระทบต่างๆ มากมาย ทั้งปัญหาสุขภาพ ไอเจ็บคอตลอด มีกลิ่นตัวไม่มีใครอยากเข้าใกล้ คนรอบข้างมองไม่ดี ตอนนี้ได้เข้ามาร่วมโครงการลดละเลิกบุหรี่และพยายามทำใจให้เข้มแข็งเลิกสูบเพื่อลูกที่กำลังจะคลอดในเดือนหน้านี้ และเชื่อว่าจะเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด" น.ส.มณีรัตน์กล่าว อีกหนึ่งปัญหาที่กำลังคุกคามผู้หญิง

มติชน ฉบับวันที่ 17 ต.ค. 2557