คอลัมน์ สังคมโลก : บุหรี่ระบาดในเอเชีย

คอลัมน์ความคิด 2 ต.ค. 57 | เข้าชม: 2,797

เลนซ์ซูม
    ผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิทยา ศาสตร์ 'พลอส เมดิซิน' (PLOS Medicine) ฉบับเดือน เม.ย.  2557 เผยว่า การบริโภคยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม มีส่วนเชื่อมโยงกับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นของชาวเอเชีย โดยมีประชากรอายุ 45 ปีขึ้นไป ราว 2 ล้านคน เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวในปี 2547 และคาดว่าจะเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกหลายทศวรรษนับจากนี้ หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของประชาชน

    เอเชีย ซึ่งมีประชากรอยู่อาศัยคิดเป็นร้อยละ 60 ของทั่วโลก นับเป็นภูมิภาคที่ การดำเนินนโยบายและมาตรการควบคุมยาสูบเป็นไปอย่างเชื่องช้าและล้าหลัง สวนทาง กับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยานแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราผู้บริโภคยาสูบพุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา คือการ ขาดความตระหนักในพิษภัยของยาสูบ ใช่ว่าอันตรายจะตกแก่ผู้ใช้เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังลามถึงบุคคลรอบข้างที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วย

   พฤติกรรมดังกล่าวไม่เพียงสะท้อน ถึงการขาดความรับผิดชอบต่อตนเอง แต่ยัง แสดงให้เห็นถึงค่านิยมของการไม่แยแสที่จะ แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมของพลเมือง และอีกสาเหตุสำคัญที่สอดรับอย่างพอเหมาะกับความไม่รู้ของประชาชน คือยุทธศาสตร์การตลาดเชิงรุกของบรรดาบริษัทผู้จัดจำหน่ายบุหรี่

  ในอดีตการใช้ยาสูบไม่เป็นที่นิยมในผู้หญิง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นในหลายประเทศของเอเชีย ขณะที่อัตราผู้ใช้ที่เป็นผู้ชาย สูงกว่าร้อยละ 50 ของประชากรชายในภูมิภาคนี้ ซึ่งมากเป็น 2 เท่า ของหลายประเทศในยุโรป แม้ปัจจุบันกลุ่มประเทศรายได้สูงในเอเชียจะมีจำนวนผู้ใช้ลดลง แต่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคยังคงมีอัตราที่สูง จนนับได้ว่าเอเชียคือแหล่งผลิตและตลาดยาสูบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งการแพร่ระบาดนี้จะส่งผลต่อสุขภาวะโดยรวมของประชากร ไม่เพียงก่อให้เกิดภาระด้านการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อศักยภาพของพลเมืองที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้วย

     ปัจจุบัน พลเมืองชายชาวญี่ปุ่นกว่าร้อยละ 30 สูบบุหรี่ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้เผยว่ามีพลเมืองชายของตนอยู่ในข่ายดังกล่าวราวร้อยละ 44 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 25 ของกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ขณะที่ ดร.ชิน ยัง-ซู ผู้อำนวยการภาคพื้นแปซิฟิกตะวันออกขององค์การอนามัยโลก (ฮู) กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในจีนอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคนต่อปี ภายในปี  2593

     เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลหลายประเทศนำวิธีการต่าง ๆ มาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดกลุ่มอายุผู้สูบ การพิมพ์ภาพคำเตือนลงบนซองบุหรี่ รวมถึงการเพิ่มราคาจำหน่าย ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากฮู โดยหวังว่าราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจะกระทบถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศจะเพิ่มราคาจำหน่ายบุหรี่อีกร้อยละ 80 จากเดิมที่มีราคาเฉลี่ยต่อซองอยู่ที่  2,500 วอน  (ประมาณ 77 บาท) เพิ่มเป็นซองละ 4,500 วอน (ประมาณ 139 บาท)

    อย่างไรตาม ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังคงต้องรอการอนุมัติจากรัฐสภา ซึ่งขณะเดียวกันก็มีเสียงคัดค้านจากทั้งกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม และผู้บริโภคบางส่วน ที่มองว่ามาตรการนี้จะกลายเป็นการสร้างภาระด้านค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลัก โดยคิม จิน-ยัง ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาของเกาหลี กล่าวว่า บุหรี่ถูกใช้เป็นเครื่องมือคลายเครียดสำหรับคนเกาหลี ที่ต้องทำงานหนักท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมอุตสาหกรรม

   ตัวเลขของผู้บริโภคและผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคยาสูบในวันนี้  แม้จะมีจำนวนมหาศาลจนน่าตกใจ แต่นี่เป็นเพียงแค่ปฐมบทเท่านั้น ซึ่งจะทวีความรุนแรงกว่านี้ หากภาครัฐยังเอาแต่ออกกฎหมายที่เลื่อนลอย ขณะที่ประชาชนก็นอนรอให้กฎหมายมาบังคับ ต่างฝ่ายต่างหลงทางขาดไร้เป้าหมาย หมดเปลืองเวลาและงบประมาณไปกับการดำเนินการที่ปราศจากความตระหนักและความเข้าใจ ดูเหมือนว่าความเมินเฉย และเห็นแก่ตัวของคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน จะน่ากลัวและอันตรายกว่าสารพิษในควันบุหรี่เสียอีก.

 

เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2557