โรงพยาบาลกับการสร้างสังคมปลอดบุหรี่

ร่วมรณรงค์ในพื้นที่ต่างๆ 5 มี.ค. 57 | เข้าชม: 6,443

เมื่อปี 2528 องค์การอนามัยโลกประกาศว่า ?แพทย์ที่สูบบุหรี่จะเป็นภาพลบต่อความพยายามที่จะทำให้ผู้อื่นไม่สูบบุหรี่เป็นจำนวนมาก? นั่นแสดงถึงความสำคัญของแพทย์รวมถึงบุคลากรด้านสาธารณสุข ที่มีต่อการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในสังคม

องค์ประกอบของโรงพยาบาลปลอดบุหรี่

  1. มีนโยบายการไม่สูบบุหรี่ที่ชัดเจนประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร
            การประกาศนโยบายของผู้บริหารถือเป็นเรื่องสำคัญ การได้มาซึ่งนโยบายนี้ทำได้สองทางคือ มาจากผู้บริหารโดยตรง หรือได้มาจากความคิดเห็นของคนในโรงพยาบาลโดยวิธีการสอบถามความเห็น วิธีหลังอาจจะช้า แต่ผลกระทบเชิงบวกมากกว่า และเป็นการง่ายที่จะแปลงนโยาบายนั้นลงสู่การปฎิบัติให้ได้ผล จากนั้นให้ประกาศและกระจายนโยบายพร้อมกับทำความเข้าใจให้ถึงผู้ปฎิบัติให้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มแกนนำต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ สามารถอธิบายและตอบคำถามได้อย่างไม่ติดขัด มีมาตราการส่งเสริมกำลังใจสำหรับผู้ที่ทำตามนโยบายให้เห็นว่ามีผลแตกต่างจากผู้ที่ไม่สนใจ
  2. ผู้บริหารต้องไม่สูบบุหรี่ 
            เป็นเรื่องยากมากขึ้นถ้าจะทำให้โรงพยาบาลเป็นแหล่งปลอดบุหรี่ถ้าผู้อำนวยการ (และเป็นแพทย์ด้วย) ยังสูบบุหรี่ ไม่แนะนำให้รอจนเขาเลิกสูบแล้วจึงทำโครงการ จากประสบการณ์พบว่า การทำให้โรงพยาบาลเป็นเขตปลอดบุหรี่สามารถทำได้ขณะที่ผู้อำนวยการยังสูบบุหรี่ และในที่สุดในฐานะผู้นำองค์กรก็จะเลิกสูบได้และกลับเป้นตัวอย่างที่มีน้ำหนัก มีความน่าเชื่อถือสูง เป็นผู้บริหารร่วมสมัยต้องไม่สูบบุหรี่
  3. ไม่มีการสูบบุหรี่ในเขตโรงพยาบาล
            นักสูบหลายคน อดไม่ได้ถ้าเห็นว่ามีคนอื่นสูบโดยเฉพาะเป็นคนของโรงพยาบาล ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งมีอยู่ 4 กระบวนการหลักที่สำคัญ คือ ICLE - Information การให้ข้อมูลข่าวสารและการให้ความรู้ที่แท้จริงถึงโทษพิษภัยของการสุบบุหรี่ วิธีการเลิกสูบ ฯลฯ ขั้นนี้หลายคนสามารถเลิกบุหรี่ได้ แต่หลายคนยังเลิกไม่ได้ต้องอาศัยการรณรงค์
            - Campaign การรณรงค์เพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวกกับการไม่สูบบุหรี่ สร้างกระแสความต้องการให้โรงพยาบาลเป็นเขตปลอดบุหรี่ รู้สึกเป็นความภาคภูมิใจที่เป็นตัวอย่างอันดีให้กับคนไข้และญาติ ฯลฯ ขั้นนี้หลายคนสามารถเลิกบุหรี่ได้ แต่หลายคนยังเลิกไม่ได้ต้องอาศัยกฎหมาย
            - Legislation การออกระเบียบเพื่อถือปฎิบัติระเบียบนี้ควรกำหนดโดยเสียงส่วนมาก
            - Enforcement การบังคับใช้ คนที่ไม่ทำตามนโยบายฝ่าฝืนระเบียบขององค์กรต้องมีการลงโทษตั้งแต่สถานเบาไปถึงหนัก โรงพยาบาลส่วนมากมักจะใช้แค่เพียว 3 กระบวนการก็สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ ส่วนการลงโทษนั้นจะเป็นเรื่องโทษทางสังคมที่เป็นไปตามกระแสความต้องการของคนเกือบทั้งหมด 
            การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ใเวลาประมาณ 3 เดือนก็ได้ผล จากนั้นจะไม่มีเจ้าหน้าที่สูบบุหรี่ให้เห็น ผู้ป่วยหรือญาติก็จะไม่กล้าสูบ หรือถ้ามีการสูบ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทุกคนก็ยินดีที่จะขอร้องให้ไปสูบนอกเขตโรงพยาบาล
  4. มีคลีนิกอดบุหรี่หรืออย่างน้อยมีหน่วยงานที่ให้คำแนะนำเรื่องการอดบุหรี่ 
            สิ่งที่นักสูบบุหรี่ทุกคนคิดคือต้องการเลิกสูบบุหรี่และเคยพยายามเลิกด้วยตนเอง ในคนที่ล้มเหลวก็ต้องการความช่วยเหลือ สถานที่แห่งแรกที่คิดถึงเป็นเรื่องสำคัญถึงแม้ว่าจะมองในแง่การลงทุนดูไมคุ้มค่า แต่เมื่อมองในภาพรวมของการสร้างสังคมปลอดบุหรี่ถือว่าเป็นทางเลือกของนักสูบบุหรี่ที่ต้องการเลิก และเป็นส่วนน้อยที่สำคัญของภาพใหญ่ หลายโรงพยาบาลที่ยังไม่สามารถเปิดเป็นระดับคลีนิก อย่างน้อยที่สุดควรมีหน่วยงานที่ให้คำแนะนำเรื่องการอดบุหรี่
  5. แพทย์พยาบาลให้ความสำคัญกับประวัติการสูบบุหรี่ของคนไข้ 
            เมื่อไม่สบายและต้องมาดรงพยาบาลกลายเป็นคนไข้ ผู้ที่สูบบุหรี่ทุกคนจะเชื่อฟังแพทย์และพยาบาลมาก ดังนั้นการที่แพทย์ พยาบาลจะถามถึงประวัติการสุบบุหรี่ และเชื่อมโยงผลร้ายของการสูบบุหรี่กับโรคที่เป็นอยู่อย่างมีหลักฐานอ้างอิง ทำให้คนไข้เป็นห่วงสุขภาพกลัวขะเลวลงเพราะสูบบุหรี่ การถูกแพทย์ทุกคนถามเรื่องการเลิกสูบบุหรี่ทุกครั้งที่มาพบทำให้คนไข้จำนวนมากสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้โดยไม่ต้องลงทุน
  6. เป็นเครือข่ายกับการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 
            การสร้างสังคมปลอดบุหรี่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือเป็นเครือข่าย ผู้ที่เข้มแข็งช่วยผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ผู้ที่ประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างของผู้เริ่มลงมือ การสร้างและร่วมมือเป็นสมาชิกเครือข่ายการสร้างสรรค์สังคมให้ปลอดบุหรี่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นบทบาทหนึ่งที่สำคัญของโรงพยาบาล การเป็นโรงพยาบาลปลอดบุหรี่และมีองค์ประกอบหลักทั้ง 6 ประการ ถือว่าโรงพยาบาลของท่านมีส่วนร่วมและบทบาทสำคัญในการสร้างสังคมปลอดบุหรี่ที่ทำยากแต่ทำได้ถ้าตั้งใจจริง!!

นพ.ไกรจักร แก้วนิล 
นักบริหารระดับ 9 รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ 
กรุงเทพมหานคร